ข่าวในประเทศ - ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ติดกับดักส่งออก ครั้งแรกตัวเลขพุ่งเกินครึ่งของยอดผลิตในไทย แต่เจอพิษค่าเงินบาทแข็งส่งผลกระทบ จนส่อแววกำไรลดวูบ ขณะที่ภาครัฐปลอบต้องทำใจ ไม่มีมาตรการทำให้คงที่ได้ เลยต้องดิ้นช่วยเหลือตัวเอง เผย 3 กลยุทธ์ลดต้นทุนรักษากำไร ให้คงอยู่ได้ในอัตราค่าเงิน 33 บาทต่อดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 3 ปี
นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของโตโยต้าในช่วงครึ่งปีแรก ประสบความสำเร็จทั้งตลาดในประเทศและส่งออก มีตัวเลขการเติบโตในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่โตโยต้าประเทศส่งออกเกินครึ่งของ หรือประมาณ 51% กำลังการผลิตทั้งหมดในไทย แต่การแข็งค่าของเงินบาทได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของโตโยต้าพอสมควร
“หากเราไม่ทำอะไรอาจจะเกิดปัญหาขายได้มาก แต่กำไรลดลงก็ได้ ถึงแม้เราจะคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว และจากการได้พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีมาตรการอะไรควบคุมให้คงที่ได้ เพียงแต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้นสิ่งสำคัญเราเองจึงต้องมีมาตรการรับมือปัญหาเงินบาทแข็งค่าภายใน 3 ปี โดยสามารถสร้างผลกำไร แม้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33 บาทก็ตาม”
ทั้งนี้แผนการที่จะแก้ปัญหากำไรลดลง จากผลกระทบของเงินบาทแข็งค่า วิธีที่ดีที่สุดคือการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดนำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นให้มากที่สุด แม้แต่ปิกอัพโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ที่ได้มีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศถึง 93% แต่ชิ้นส่วนดังกล่าวบางตัวก็มีส่วนประกอบหลายชิ้นรวมกัน บางชิ้นที่ซ่อนอยู่ซัพพลายเออร์อาจจะนำเข้ามาจากต่างประเทศก็ได้ ตรงนี้โตโยต้าจะพยายามให้ซัพพลายเออร์ลดการนำเข้าลง
นายโซโนดะกล่าวว่า โดยวิธีที่โตโยต้าจะนำมาใช้ในการลดต้นทุน ได้เตรียมดำเนินการ 3 สิ่งด้วยกัน คือ อันดับแรกชิ้นส่วนตัวไหนที่ยังนำเข้าอยู่ ตรงนี้โตโยต้าจะพยายามขอร้องซัพพลายเออร์เทียร์ 1 ให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีมายังไทย ดังเช่นเดนโซ่เร็วๆ นี้ จะเปิดศูนย์พัฒนาและวิจัย (R&D) ในไทย และต่อมาโตโยต้าจะเข้าไปสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับเทียร์ 2 และ 3 ที่มีจำนวนมากกว่า 1,800 ราย ให้มีศักยภาพระดับสูงขึ้น โดยโตโยต้าได้ร่วมมือกับภาครัฐ ผ่านโครงการพัฒนาบุคลากรที่ดำเนินงานโดยสถาบันยานยนต์
สุดท้ายปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะราคาของเหล็กคุณภาพสูงที่นำมาผลิตรถยนต์ ซึ่งต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น แต่ในอนาคตอันใกล้นี้บริษัท นิปปอน สตีล คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และบริษัทเจเอฟอี กำลังจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย ซึ่งอนาคตจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้
ส่วนผลกระทบที่โตโยต้ากำลังจับตาอีกอย่าง คือปัญหาซับไพร์บ แม้ปัจจุบันจะยังไม่ส่งผลชัดเจนในประเทศไทย แต่การส่งออกที่มากขึ้นของโตโยต้า หากปัญหานี้มีผลต่อประเทศที่ส่งออก ย่อมส่งผลกระทบต่อโตโยต้าได้ ฉะนั้นช่วงครึ่งปีหลังจึงต้องจับอย่างใกล้ชิด
ผู้จัดการออนไลน์
--------------------------------------------------------------------------------------
เห็นข่าวแบบนี้แล้วก็รันทดใจทุกที ที่รันทดใจไม่ได้หมายความว่าบริษัทโตโยตาไม่ดีนะครับ
แต่เพราะว่าทำมั้ย ทำไม บริษัทบ้านเราถึงไม่มีแนวคิดแบบนี้บ้าง
ถ้าใครคุยกับผมเรื่องการทำธุรกิจ หรือหนังสือธุรกิจ แน่นอนว่าจะต้องเคยได้ยินชื่อ
"รูดซิปสมอง มองการบริหารแบบYKK" อย่างแน่นอน ซึ่งหนังสือเล่มนี้เอง
ที่ทำให้ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จ
ทีนี้จากข่าวเราลองมาดูกันว่าปัจจัย ที่ทำให้โตโยตา เป็นเลิศได้แบบทุกวันนี้ เพราะอะไร
อย่างแรก คือการพึ่งพาตัวเอง การที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นนั้น ย่อมกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกทุกบริษัท
คำถาม คือ แล้วบริษัทที่ได้รับผลกระทบ จัดการกับปัญหานี้อย่างไร
ในที่นี้โตโยตา เลือกที่จะดำเนินการลดต้นทุน เพื่อให้มีmarginที่ดีขึ้น
ในขณะที่บริษัทไทยๆ เลือกที่จะไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง ได้แต่พึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ
ถ้าเป็นผู้ประกอบการไทยๆ เราจะได้ยินแต่ ขอให้รับอุดหนุน ดูแลค่าเงิน
มีใครเคยได้ยินผู้ประกอบการไทย เตรียมจะปรับตัวเพือรับมือปัญหาด้วยตัวเองบ้าง???
สอง คือ การวิจัย การลดต้นทุนของโตโยตา คือการวิจัยและพัฒนา
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการใช้เงินวิจัยต่อGDPสูงเป็นอันดับต้นๆในโลก
ในขณะที่ประเทศไทย มีเงินวิจัยต่อGDP ต่ำเรี่ยดิน
คำถาม คือ วิจัยไปแล้วได้อะไร
การวิจัย ในข่าวคือการพัฒนาด้านการลดต้นทุนวัตถุดิบ แต่หากเป็นประเทศไทย เราอาจจะวิจัยเพื่อเพิ่มมูลคาของสินค้าได้
ทุกวันนี้เราส่งออกแต่สินค้าปฐม ที่ไม่มีการพัฒนาและวิจัยต่อเลย
ในขณะที่บางประเทศซื้อสินค้าปฐมเราไปแปรรูป แล้วส่งกลับมาขายเอาในราคาที่แพงขึ้น
ทุกวันนี้ ใครเคยได้ยินบ้างว่าบริทของไทยมีการตั้งศูนย์วิจัย มีการเพิ่มงบวิจัย???
สาม คือ การรักษาความสัมพันธ์และการสนับสนุนซัพพลายเออร์
โตโยตามีการสันบสนุนให้ซัพพลายเออร์ให้มีการลดต้นทุน ระบบการบริหาร
วันก่อนผมได้อ่านรายงานประจำปีของบริทแห่งหนึ่งที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับโตโยตา
พบว่าโตโยตามีการประกวดระบบการผลิตแบบโตโยตา แล้วบริษัทนี้ก้ไปสอนระบบนี้ให้บริษัทอื่นๆ
ในขณะที่บริษัทไทยแท้ๆ บีบซัพพลายเออร์กันอย่างเลือดเย็น กดราคาได้กด บีบได้บีบ
มีบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งของไทยที่ได้ชื่อว่า มีเครือข่ายระดับโลก เป็นบริษัทที่ใหญ่มากครับ
แต่ขอโทษซัพพลายเออร์ของบริษัท มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง
หรือใครเจอบริษัทที่มีระบบการสนับสนุนซัพพลายเออร์ของไทยที่ดีๆบ้างครับ???
จริงๆมีประเด็นอีกเยอะแยะที่จะสามารถกระเทาะออกมาได้ แต่มันจะยาว ย้าว ยาวไป
เพราะถ้ารวมข่าวกับเนื้อหาส่วนนี้ ผมว่ามันยาวมากแล้วครับ ประเดี๋ยวจะเบื่อกันเสียก่อน
สุดท้าย ผมยังอยากเห็นผู้ประกอบการไทยๆได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอยู่ในระดับโลกกันบ้าง
ไม่ใช่เอะอะๆ ก็ขอให้รัฐช่วย ใช้อำนาจรัฐผูกขาด สัมปทานแบบไม่เป็นธรรม
แบบนั้นสำเร็จได้แค่ในประเทศครับ แต่ถ้าจะไประดับโลกน่ะ มันต้องฝีมือ
No comments:
Post a Comment